ประวัติขององค์การบริหารส่วนตำบลสูงเนิน
บ้านสูงเนิน ตำบลสูงเนินแรกเริ่มเดิมทีนั้นเรียกว่า “ บ้านสองโนน ” ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าแต่ก่อนมีโนนอยู่สองโนน คือ ๑. โนนด้านตะวันออก (บริเวณที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน) ๒. โนนด้านตะวันออก (บริเวณวัดใหญ่สูงเนินและคุ้มบ้านหันปัจจุบัน) ลักษณะพื้นที่ของบ้านสองโนน เป็นเนินและสูงลาดลงไปด้านตะวันออกจรดทุ่งนาหนองแห้ว ต่อมาชาวบ้านมีความคิดเห็นร่วมกันให้เปลี่ยนชื่อเรียก และแผลงคำว่า “โนน” เป็นเนิน จึงได้เรียกชื่อว่า “บ้านสูงเนิน” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (หมายเหตุ คำว่า “โนน” และ “เนิน” มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกัน “โนน”เป็นคำโบราณเก่าแก่กว่า)
ในการตั้งหมู่บ้านแต่แรกนั้น ได้ตั้งรวมกันเป็นหมู่บ้านเดียวเรียกว่า“บ้านสูงเนินหมู่ที่ ๑”ขึ้นกับอำเภอโนนลาว หรืออำเภอสันเทียะ (อำเภอโนนไทยปัจจุบัน) โดยในขณะนั้นมีเพียงหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ต่อมาได้แยกตั้งหมู่บ้านที่๒ (ซึ่งไม่ทราบชื่อบ้านอะไร) พื้นที่บริเวณด้านตะวันตกคุ้มบ้านหัน คงอาจเรียกว่า “คุ้มบ้านหันตะวันตก หมู่ที่ ๒” และสันนิษฐานว่าคงเป็น “ตำบลสูงเนิน” ตั้งแต่บัดนั้น ผู้ใหญ่บ้านสูงเนิน หมู่ที่ ๑ คนแรกชื่อ นายลี ศรีสูงเนิน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒ คุ้มบ้านหันตะวันตก คนแรกชื่อ “ นายนา ทิมสูงเนิน” โดยมี “หมื่นรักษาราชกิจ” เป็นกำนันตำบลสูงเนินคนแรก ในสมัยนั้นใครจะเป็นกำนันจะเรียกคำนำหน้าว่า “ตำบล” (นายตำบล) อาทิเช่น “ตำบลหมื่นรักษาฯ” คนต่อมา นายลี ก็เรียก “ตำบลลี” และต่อมา นายมุ ก็เรียก “ตำบลมุ” อย่างนี้เป็นต้น
ในขณะนั้นมีวัดประจำหมู่บ้านอยู่ ๑ วัด ถือได้ว่าเป็นวัดแรกของตำบลสูงเนิน “อุปปัชฌคอแร้ง” เป็นผู้สร้างวัด และเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก วัดนี้แรกว่า “วัดใหญ่ ” (วัดใหญ่สูงเนินปัจจุบัน) เดิมทีวัดนี้ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน (ที่ว่าการอำเภอสูงเนินปัจจุบัน) ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เงาของวัดได้บดบังทับบ้านโดยทั่วไป ประกอบกับในสมัยนั้นหยูกยารักษาโรคต่างๆ ยังไม่ค่อยมี การสาธารณสุขยังไม่เจริญ ผู้คนเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ล้มตายกันเป็นระยะ ทำให้เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เล่าลือกันไปต่างๆ นานา ในเรื่องเงาของวัดทับบ้าน คิดกันว่าเป็นสิ่งไม่เป็นมงคล มีการใส่ร้ายป้ายสีวัด ดังนั้นจึงได้มีการย้ายวัดจากที่เดิมไปสร้างใหม่ทางด้านตะวันตกของหมู่บ้าน (ที่ตั้งของวัดใหญ่สูงเนินปัจจุบัน) โดยวัดเดิมนั้นปล่อยเป็นที่ว่าง
ต่อมาได้ตั้งอำเภอสูงเนินเป็นซึ่งแยกออกมาจากอำเภอโนนลาวหรือสันเทียะ (อำเภอโนนไทย) ในระหว่างนั้นการรถไฟได้เริ่มพูนดินทำทางมาถึงพอดี สถานีตำรวจก็ได้เริ่มสร้างในระหว่างนี้ (ร.ศ. ๑๑๘ หลวงนราบริรักษ์เป็นนายอำเภอคนแรก) การสร้างที่ว่าการอำเภอหลักแรกนั้นสร้างในบริเวณที่ว่างเปล่าด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ( เดิมเป็นที่ตั้งของวัด) และได้เกิดมีชุมชนใหญ่ขึ้นมาอีก ๑ ชุมชน ที่บ้านสระเพลง (ปัจจุบัน) ซึ่งเพียงพอที่จะจัดตั้งหมู่บ้านได้ จึงได้มีการรวมหมู่ที่ ๒ เข้ากับหมู่ที่ ๑ โดยเรียกรวมกันว่า “บ้านสูงเนิน หมู่ที่ ๑” และเลข๒ หรือหมู่ที่ ๒ นั้นใช้กับบ้านสระเพลงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อีกครั้ง “กำนันคง พรหมพันธ์ใจ” ( ในขณะนั้น ) เป็นผู้ดำเนินการเสนอรวมและตั้งหมู่บ้านใหม่ (ผู้ใหญ่บ้านสระ-เพลงคนแรกชื่อ นายดำ ไม่ทราบนามสกุล)
ในเวลาต่อมา ได้เกิดโรคระบาด (โรคเพ็ก) ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ต่างหวาดกลัวกันทั่วหน้าจึงได้มีการขยับขยายย้ายออกจากบ้านสูงเนินไปอยู่ตามที่ต่างๆ เพื่อหนีโรคร้าย บ้างก็ย้ายไปอยู่ทางทิศเหนือของบ้าน (บ้านตะคองหลงปัจจุบัน) บ้างก็ย้ายไปอยู่ทิศใต้ของบ้าน (บ้านเหล่า – โนนค่าในปัจจุบัน) หรือบ้างก็ย้ายไปอยู่บ้านสระเพลงหมู่ที่ ๒ ซึ่งบ้านสระเพลงอยู่ห่างไกลจากบ้านเดิมถึง ๙ กิโลเมตร เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดหมู่บ้านใหม่ และต่อๆ มาก็มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นมาอีก คือ “บ้านตะคองหลงหมู่ที่๓” และ “บ้านเหล่า – โนนค่า หมู่ที่ ๔ ” ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน เป็นลำดับต่อมา (หมายเหตุ โรคระบาดที่ชาวบ้านเรียกว่า “โรคเพ็ก” นั้น บางคนเรียกว่า “โรคห่า” บ้างก็ว่า “ห่าลง” และบ้างก็ว่า “ห่ากิน” แล้วแต่จะว่า (เรียก) กันไปตามอาการ เป็นไปตามรักแร้ , คอ , เป็นลม,ลงท้อง ,ลงไส้ และตามในเวลาต่อมา โรคเพ็กนี้จะใช่ “กาฬโรค” หรือไม่ ไม่แน่ใจ
ต่อๆ มาก็ได้เกิดชุมชนเพิ่มมากขึ้นตามสภาพความเจริญของพื้นที่ จึงได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นมาอีกตามลำดับ โดยส่วนมากชุมชนเกิดใหม่จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศใต้ของบ้านเดิม คือ “ บ้านหนองโสน หมู่ที่ ๕ ” “บ้านดอนกอก หมู่ที่ ๖” และต่อๆ มา ตามแนวถนนมิตรภาพสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ( ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ) คือบ้านบุใหญ่หมู่ที่ ๗ , บ้านสุขาวดี หมู่ที่ ๘ และบ้านบุหิน หมู่ที่ ๙
จนถึงปีพ.ศ.๒๕๓๐ ได้มีการจัดตั้ง หมู่บ้านขึ้นมาอีก ๑ หมู่บ้าน โดยแยกออกจากบ้านสูงเนิน หมู่ที่ ๑ เพราะว่าชุมชนเกิดใหม่นั้นมีผู้อาศัยอยู่หนาแน่นประมาณ ๘๕ หลังคาเรือน และพื้นที่อยู่ห่างกันเกินไป ประมาณ ๑๕.๒ กิโลเมตร) กำนันสุข สว่างธรรม (ในขณะนั้น) เป็นผู้เสนอขอแยกตั้งหมู่บ้านและมีชาวบ้านมีความเห็นพอสมควร หมูบ้านแยกตั้งใหม่นี้เรียกว่า “บ้านญาติเจริญ หมู่ที่ ๑๐”
ตรา หรือสัญลักษณ์ของตำบลสูงเนิน ในแต่ก่อนๆ นั้นยังไม่มีแต่ในระยะหลัง ๆ จนถึงปัจจุบันใช้เป็นรูป “ธรรมจักร” เช่นเดียวกับตำบลเสมา และอำเภอสูงเนิน และปัจจุบันได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลสูงเนินใหม่เป็น “รูปปราสาทบ้านบุใหญ่มีรูปดอกบัวอยู่ใต้ฐานปราสาท” และสีประจำองค์การบริหารส่วนตำบลสูงเนิน คือ สีฟ้า - ขาว |